ปาฏิหาริย์!!! “หลวงพ่อขุ้ย” ศิษย์เอกหลวงพ่อทบ (เกจิดังเมืองมะขามหวาน) ผู้แก่กล้าสรรพวิชาคาถาเมตตามหานิยม หลังละสังขารสรีระไม่เน่าเปื่อย



     พระอธิการวิชัยรัตน์ ฐิตธัมโม หรือที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักดีในนาม หลวงปู่ขุ้ย ฐิตธัมโม เป็นพระเกจิอาจารย์ศิษย์เอกสืบสายวิทยาคมจากพระครูวิชิตพัชราจารย์ หรือ หลวงพ่อทบ วัดช้างเผือก อ.เมืองเพชรบูรณ์ อดีตพระเกจิชื่อดังแห่งเพชรบูรณ์ หลวงปู่ขุ้ย เป็นพระภิกษุที่มีใจใฝ่ปฏิบัติธรรมและรักษาธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังเป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง หลวงปู่ขุ้ย  ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดซับตะเตียน ต.ท่าด้วง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

ประวัติและชีวิตวัยเยาว์

     หลวงปู่ขุ้ยถือกำเนิดในสกุล ท่อนทอง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2464 ที่บ้านท่ามะทัน ต.ท่าอีบุญ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โยมบิดา-มารดา ชื่อนายทองดีและนางทองสุข ท่อนทอง ช่วงวัยเยาว์เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่บ้านเกิด พออายุได้ 12 ปี บิดาถึงแก่กรรม จึงได้บรรพชาบวชหน้าไฟให้โยมบิดา แต่ด้วยความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า แม้จะเสร็จงานศพบิดา แต่ไม่ยินยอมลาสึก ขออนุญาตโยมมารดา บวชเรียนต่อไป ต่อมา ได้ทราบถึงกิตติศัพท์หลวงพ่อทบ วัดพระพุทธบาท อ.ชนแดน เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีประชาชนเคารพนับถือ จึงเกิดศรัทธา เดินทางจากบ้านเกิดไปยัง อ.ชนแดน เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์อยู่รับใช้อุปัฏฐาก ตักน้ำ เทกระโถนน้ำหมาก ล้างบาตร ปัดกวาดเสนาสนะด้วยความเมตตาหลวงพ่อทบ จึงได้ถ่ายทอดสรรพวิชาคาถา การทำตะกรุดโทน ลงเลขยันต์คาถา ผ้ายันต์ และได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานและกำหนดจิต มีความรู้แก่กล้าตามลำดับ สามารถเสกข้าวสารให้ไก่กิน และศึกษาเรียนรู้ในการจัดสร้างพระกริ่ง หล่อ ตามประเพณีโบราณ ผลสัมฤทธิ์ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สามเณรขุ้ยมีความชำนาญอย่างยิ่ง

อุปสมบท

     ครั้นอายุได้ 22 ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดศรีมงคล อ.หล่มสัก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2486 โดยมีพระมหาหยวก เจ้าคณะอำเภอหล่มสัก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการคำปัน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการวันดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ฐิตธัมโม หมายความว่า ผู้มีจิตใจตั้งมั่นในธรรม ภายหลังอุปสมบท อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ 2 พรรษา จึงได้กราบลา เดินทางไปจำพรรษายังวัดชนแดน เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิทยาคมและปฏิบัติกัมมัฏฐานจากหลวงพ่อทบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อการปฏิบัติธรรมแก่กล้า ท่านได้กราบลาหลวงพ่อทบ ออกเดินท่องธุดงควัตรไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ พ.ศ.2486 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลท่าอีบุญ ปกครองพระสงฆ์-สามเณร ได้ระยะหนึ่ง เกิดความเบื่อหน่าย จึงได้ขอลาออก และออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ อาทิ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ประเทศเขมร ตลอดระยะเวลาในการถือธุดงควัตร ท่านได้สนทนาธรรมกับพระสายวัดป่าหลายรูป และศึกษาไสยเวทจากอาจารย์เขมรและลาวหลายรูป

สร้างวัดซับตะเคียน

     พ.ศ.2517 หลวงปู่ขุ้ย ได้เดินธุดงควัตรตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ มุ่งหน้าขึ้นทิศตะวันออก ในที่สุด หลวงปู่ได้เดินทางมายังบ้านท่าด้วง ได้เล็งเห็นความเจริญที่จะเกิดขึ้นแก่หมู่บ้านนี้ในอนาคต ประกอบกับมีป่าไม้ แหล่งน้ำไหลผ่าน ท่านจึงได้หยุดธุดงค์ และชักชวนชาวบ้าน สร้างวัดขึ้นที่หมู่บ้านซับตะเคียน บ้านซับตะเคียน เป็นบ้านป่า ดงดิบ เต็มไปด้วย เสือ ช้าง และสัตว์มีเขี้ยวพิษนานาชนิด เต็มไปด้วยไข้ป่า อยู่ห่างจาก อ.หนองไผ่กว่า 40 ก.ม. ถ้าจะเดินทางมายังที่ตั้งตัวจังหวัด ต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน เมื่อชาวบ้านเจ็บไข้ไม่สบาย หลวงปู่ขุ้ยได้เข้าป่าหาสมุนไพร มารักษาชาวบ้านด้วยตนเอง แทนยาจากในเมื่อคราวเกิดโรคห่าระบาด หลวงปู่ได้นำยาสมุนไพรรักษาชาวบ้านจนหายป่วย เรื่องยาสมุนไพรเป็นที่ขึ้นชื่อมาก แม้ถึงทุกวันนี้ ยังมีชาวบ้านที่เจ็บป่วยไปให้ท่านทำการรักษาอยู่เป็นประจำ หลวงปู่ขุ้ย อยู่จำพรรษาชักชวนชาวบ้านเข้าวัด ฟังธรรม รักษาศีล จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้าน รวมทั้งได้รับแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดซับตะเคียนแห่งนี้

วัตถุมงคล

     หลวงปู่ขุ้ยได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงพ่อทบ บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ที่รู้ในกิตติศัพท์ด้านวิทยาคมของท่าน จึงได้ขอร้องให้ท่านจัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อนำเงินมาจัดสร้างเสนาสนะ ศาลา อุโบสถ หลวงปู่ขุ้ย ได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาหลายรุ่น เป็นที่เชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ ในด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาด จึงมีผู้ศรัทธาเลื่อมใส ไปขอบูชามามากมายจนชื่อเสียงของท่านโด่งดังไปในหลายจังหวัด วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูงคือ ตะกรุดโทน ตะกรุด 9 ชั้น รูปหล่อลอยองค์ และอีกหลายรุ่น วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมีผู้มาขอบูชาหมดไปในเวลาไม่นาน และผู้ที่เช่าหาวัตถุมงคลของท่านต่างมีประสบการณ์แคล้วคลาดต่างๆ มากมาย

การเผยแผ่ธรรม

     หลวงปู่ขุ้ยเป็นพระที่ทันสมัย ใช้ธรรมะสั่งสอนชาวบ้าน ให้รู้จักทำมาหากินด้วยความสุจริต มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร มิให้ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข ใช้ชีวิตอย่างสมถะ และพอเพียง ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลวงปู่ขุ้ย ได้สั่งสอนให้ชาวบ้านได้เจริญภาวนาสมาธิ ให้ยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตามศีล 5 ศีล 8 หรืออุโบสถศีล อย่างเคร่งครัด ให้เป็นคนคิดดี ทำดี พูดดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน หลวงปู่ขุ้ย ถือเป็นผู้นำทางคุณธรรมศีลธรรมของชาวบ้านซับตะเคียนอย่างแท้จริง ด้วยความที่เป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไม่สะสม และยึดติดในอติเรกลาภ ชาวบ้านทั้งอำเภอ ต่างจังหวัด จึงให้ความเคารพศรัทธา ด้วยกุศลจิตอย่างแท้จริง หลวงปู่บอกว่า ที่ท่านอายุยืน มิเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นเพราะว่า ท่านทำสมาธิ เจริญภาวนา และทำจิตใจให้ผ่องใสตลอดเวลา ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ส่วนมากจะฉันอาหารประเภทผัก ผลไม้ เป็นประจำ หลวงปู่ขุ้ย เป็นพระสายปฏิบัติและเป็นศิษย์รูปสุดท้ายของหลวงพ่อทบ นับเป็นพระดีอีกรูปหนึ่งของเมืองมะขามหวาน วัดของท่านอยู่ติดเทือกเขาเพชรบูรณ์ เขตแดนติดต่อ อ.หนองบัวแดง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ถ้าไม่มีกิจนิมนต์ที่ใด ส่วนมากท่านจะอยู่ที่วัดเป็นประจำ

     หลวงปู่ขุ้ย มรณเมื่อวันที่ 26 สค. 54 สิริอายุรวม 90 ปี หลังละสังขารหลวงปู่ขุ้ยมีสรีระที่ไม่เน่าเปื่อยซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง